หากน้ำประปาไหลค่อยมาก จะติดปั๊มดูดจากท่อประปาโดยตรงได้หรือไม่

“น้ำประปาที่ไหลเข้าบ้าน ไหลค่อยมาก จะติดปั๊มดูดจากท่อประปาโดยตรงได้เลยมั้ย”

หากใครกำลังสงสัยเรื่องนี้ ประปาแมนมีคำตอบมาฝากกันครับ

สำหรับท่อประปาที่จ่ายเข้าบ้านพักอาศัยทั่วไป จะมีขนาดประมาณครึ่งนิ้ว การติดตั้งปั๊มสูบน้ำโดยตรงจากเส้นท่อ จะทำให้น้ำไหลเข้าทางดูดของปั๊มไม่ทัน อาจทำให้เกิดการชำรุดเสียหายได้ ดังนั้นจึงไม่ควรติดปั๊มดูดจากท่อประปาโดยตรงครับ

วิธีที่ถูกต้อง คือ ต้องมีบ่อพักน้ำที่ติดตั้งประตูน้ำแบบลูกลอยกันน้ำล้น แล้วติดตั้งปั๊มสูบน้ำจ่ายในครัวเรือนอีกครั้ง ขนาดของบ่อพักน้ำก็ขึ้นอยู่กับ จำนวนสมาชิกในบ้าน โดยทั่วไปหากบ้านหนึ่งหลังอยู่กัน 3-4 คน ใช้บ่อพักน้ำหรือถังเก็บน้ำขนาดประมาณ 1,000 ลิตร ก็เพียงพอครับ

ที่สำคัญ การติดปั๊มน้ำนั้น ห้ามติดตั้งเพื่อดูดน้ำโดยตรงจากท่อเมนของประปา ถือว่าผิดกฎลักษณะการติดตั้งขอใช้น้ำของทางการประปานะครับ และทำให้มาตรวัดน้ำเกิดความเสียหายได้ง่ายด้วย ทางที่ดีควรแจ้งให้การประปาที่รับผิดชอบในพื้นที่ทราบ เพื่อหาทางแก้ไขให้ถูกต้องครับ

DIY เช็คการติดตั้งปั๊มน้ำด้วยตัวเอง

ปั๊มน้ำ เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยเพิ่มแรงดันน้ำ ทำให้น้ำประปาในบ้านไหลแรงและมีแรงดันน้ำที่สม่ำเสมอ การติดตั้งปั๊มน้ำสามารถทำได้ด้วยตัวเองนะครับ แต่สำหรับมือใหม่ เราจะต้องตรวจสอบและดูแลอะไรบ้าง หลังจากติดตั้งเเล้วต้องเช็คอะไรเพิ่มเติม SANWA รวบรวมข้อมูลมาให้เเล้วครับ

เช็คการติดตั้งปั๊มน้ำด้วยตัวเอง

ตรวจสอบการติดตั้งปั๊มน้ำ
1.1 ปั๊มน้ำควรติดตั้งบนฐานรองสูงกว่าพื้นเล็กน้อย เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง และลดโอกาสไฟฟ้ารั่ว
1.2 ปั๊มน้ำควรอยู่ห่างจากผนังประมาณ 10 cm. หรือประมาณ 1 ฝ่ามือ เพื่อถ่ายเทอากาศ ช่วยให้ปั๊มน้ำไม่ร้อนจัดเมื่อทำงานเต็มที่
1.3 ขนาดของท่อประปาต้องเท่ากับขนาดหน้าแปลนของปั๊มน้ำ ไม่ใช้ท่อประปาที่เล็กกว่า และควรติดตั้งได้แนวระดับไม่คดเอียง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของปั๊มน้ำ
1.4 ติดตั้งในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หากติดตั้งภายนอกอาคารควรมีหลังคาป้องกันแสงแดด และ ฝน
1.5 ควรติดตั้ง #เช็ควาล์ว หลังปั๊มน้ำเพื่อป้องกัน water hammer (กรณีปั๊มน้ำที่ไม่มีเช็ควาล์วในเครื่อง)

ระบบไฟฟ้า
2.1 ขนาดของสายไฟควรเลือกขนาดที่สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าของปั๊มน้ำได้อย่างเพียงพอ ถ้าขนาดเล็กไปจะทำให้เกิดความร้อนและละลายได้
2.2 ควรติดตั้งสายไฟที่จุดต่อสายไฟในตัวปั๊ม ไม่ควรใช้การเสียบปลั๊ก หรือตัดปลายปลั๊กแล้วต่อสาย สายไฟไม่ควรมีจุดตัดต่อที่กลางสาย
2.3 ควรมีชุดเบรกเกอร์ควบคุมปั๊มต่างหาก 1 ชุด เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการซ่อม
2.4 การเดินสายไฟนอกอาคารควรเดินสายไฟในท่อ พีวีซี ร้อยสาย สีเหลือง
2.5 การเดินสายไฟควรทำให้เรียบร้อย เพื่อความปลอดภัย

การทดสอบปั๊มน้ำหลังการติดตั้ง
3.1 ทดลองเปิดใช้น้ำในบ้าน โดยเปิดก๊อกทุกตัว ดูความแรงและการไหลของน้ำว่าสม่ำเสมอดี
3.2 ทดลองเปิด-ปิดก๊อกน้ำในบ้าน ดูว่าปั๊มน้ำทำงานปกติหรือไม่
เปิดใช้น้ำ = ปั๊มน้ำทำงาน , หยุดใช้น้ำ = ปั๊มน้ำหยุดทำงาน
3.3 การสั่น และ เสียงของปั๊มน้ำเมื่อทำงาน เป็นปกติหรือไม่ เสียงต้องไม่ดังจนเกินไป
3.4 กรณีมีการติดตั้งระบบบายพาส ควรตรวจสอบการทำงานของระบบบายพาสด้วย เช่น กรณีไฟฟ้าดับหรือปั๊มน้ำหยุดทำงาน ระบบบายพาสต้องจ่ายน้ำเข้าบ้านได้
3.5 สำรวจรอยรั่วตามข้อต่อต่าง ๆ เช่น ข้อต่อท่อประปา , ข้อต่อที่หน้าแปลนปั๊มน้ำ มีน้ำซึม หรือมีลมเข้าหรือไม่ หากมีควรแก้ไขทันที
3.6 ทดลองให้ปั๊มน้ำทำงานสัก 15 นาที หากปั๊มน้ำทำงานปกติและน้ำไหลสม่ำเสมอ และปั๊มน้ำไม่ร้อนจนเกินไป ถือว่าปกติ

เพียงใส่ใจเรื่องเหล่านี้ให้ดี การติดตั้งปั๊มน้ำด้วยตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปเลยครับ